บ่อยครั้งที่ลูกน้องทำงานผิดพลาด การทำงานสะดุด ทำให้ใช้เวลาในการแก้ไขงาน หัวหน้าส่วนใหญ่ปวดหัวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะงานที่ต้องเชื่อมโยงระหว่างคนกับคนตามลำดับขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นสายการผลิตหรือจากบุคคลสู่บุคคล เมื่องานมีความผิดพลาดจากจุดหนึ่งหรือคนหนึ่งคนใด ทำให้งานส่วนอื่นผิดพลาดและล่าช้าตามไปด้วย

 

คนที่ทำงานผิดพลาดมักถูกมองตามการทำงานที่ผิดพลาดนั้น ถูกมองว่าขาดความรับผิดชอบ ไม่รอบคอบ ทำงานไม่เก่ง หนักยิ่งกว่านั้นการถูกต่อว่า เจ้านายด่า ทำให้บรรยากาศในการทำงานไม่น่าอยู่และถูกปกคลุมไปด้วยพลังงานลบ 

 

การตำหนิด่าทอหรือกล่าวโทษกันไปมา ไม่ใช่ทางออกในการช่วยให้งานผิดพลาดน้อยลง แต่ทำให้งานผิดพลาดมากขึ้นและบ่อยขึ้น เพราะสาเหตุของความผิดพลาดในการทํางาน นอกจากจะมองที่ทักษะในการทำงาน ยังมีหลายปัจจัยที่เป็นต้นตอ เช่น ปัญหาความไม่สบายใจทางด้านความสัมพันธ์ ด้านการเงิน ความเครียด ความกังวล การเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้มาจากสภาพแวดล้อม ผู้คน ครอบครัว แนวคิดและประสบการณ์ที่เขาได้สะสมมา

 

ตัวอย่างเช่น ลูกน้องนาย A ทำงานที่บริษัท B เกิดทำงานผิดพลาดบ่อยๆเพราะมาทำงานสาย เลยทำให้ทำงานด้วยความรีบเร่ง ขาดการตรวจสอบ เกิดความผิดพลาด ส่งผลให้งานล่าช้าและกระทบต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ เจ้านายไม่พอใจ เพื่อนร่วมงานไม่รัก

 

ถ้ามองเฉพาะปัญหาคือ ลูกน้องมาทำงานสายทำให้งานผิดพลาดบ่อยๆ โดยไม่มีการหาสาเหตุที่แท้จริง นาย A จะกลายเป็นคนทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายเขาต้องลาออกไปทำงานที่บริษัท C ผ่านไป 3 เดือน นาย A พฤติกรรมเดิมๆกลับมา เป็นประสบการณ์ทำงานที่สะสมของนาย A ทั้งดีและไม่ดี เกิดพฤติกรรมเดิมอีกที่บริษัท C

 

จากเหตุการณ์ที่เล่ามานี้ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าบริษัท B ไม่ได้มีลูกน้องแบบ นาย A เพียงแค่หนึ่งคน อาจมี 10 คน  100 คน หรือมากกว่านั้น  ส่วนบริษัท C ก็มีลูกน้องแบบนาย A เช่นกันในจำนวนมากพอกันกับบริษัท B  ลูกน้องจากบริษัท C มาเข้าทำงานกับบริษัท B ส่วนลูกน้องที่บริษัท B ก็ลาออกแล้วไปทำงานที่บริษัท C วนอยู่แบบนี้

 

การหาสาเหตุเพื่อให้ทราบต้นตอที่แท้จริง เป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบเฉพาะจุด ช่วยให้พัฒนาคนและพัฒนาองค์กรให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้เป็นอย่างดี

 

ทำให้บทบาทการให้คำปรึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง การช่วยลูกน้องที่กำลังประสบปัญหาในการทำงานผิดพลาดบ่อยๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านพฤติกรรม ด้วยวิธีการพูดคุยเพื่อให้ลูกน้องมองเห็นผลกระทบของปัญหาที่เกิดขึ้น ให้เขาเกิดการตระหนักรู้ เพราะหลายครั้ง คนที่มีปัญหาเขาก็ไม่รู้ว่าเขามีปัญหา

ขั้นตอนในการให้คำปรึกษามี 3 ส่วนดังนี้

  1. สร้างความสัมพันธ์
  2. การตระหนักรู้
  3. เข้าใจปัญหา

ส่วนที่ 1 สร้างความสัมพันธ์

ลองนึกภาพตามว่าถ้าคุณเป็นคนหนึ่งและเป็นคนเดียวที่ยืนอยู่ป้ายรถเมล์ มีคนอีกคนแต่งตัวแปลกเข้ามาทักทายคุณ ถามซอกแซกเรื่องราวของคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร

วันแรกของการเปิดเรียนของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เทอม 1  นักเรียนพูดคุยกันไหม คำตอบคือพวกเขาจะนั่งเงียบเสียก่อน ถ้าเปรียบเทียบกับ 2 สัปดาห์ผ่านไป เสียงที่เคยเงียบนั้นถ้าวัดจากระดับ 0 ถึง 10 คุณคิดว่าเสียงนั้นจะเพิ่มขึ้นในระดับที่เท่าไหร่ เมื่อเปรียบเทียบกับวันแรกแล้วเสียงของนักเรียนดังขึ้นหรือไม่ 

เป็นเพราะความเหมือนของนักเรียนนักเรียนทำอะไรทำตามกัน ร้องเพลงภาษาเดียวกันกัน เป็นพวกกัน ครูไม่อยู่ก็ร้องเพลงโยนกระดาษใส่กันเหมือนกัน กลุ่มที่เป็นเด็กเรียนเหมือนกันก็จะตั้งใจเรียนเหมือนๆกัน 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์ชอบสิ่งที่เหมือนหรือคล้ายกัน เพราะฉะนั้นการสร้างความเชื่อใจในการสร้างความไว้วางใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของการให้คำปรึกษา คนที่ไม่เชื่อใจไม่ไว้วางใจจะมาพร้อมกับการยกกาดเหมือนนักมวย เพื่อป้องกันตัวเอง หน้าที่ของผู้ให้คำปรึกษาคือลดกาดของเขาลงก่อน ให้เขารู้สึกดีไว้ใจและเชื่อใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรฝึกให้เกิดความชำนาญ เพราะจะมีคำถามที่ผุดขึ้นในหัวของลูกน้องว่า คุณเป็นใครทำไมคุณต้องมาช่วยผม แล้วทำไมผมต้องไว้ใจคุณ

3 เทคนิควิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนตรงหน้า 

 

  1. สถานที่

การให้คำปรึกษาสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา แล้วแต่สองฝ่ายจะตกลงกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายกับลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน  ครูนักเรียน ในสถานที่ทำงาน โรงอาหาร ใต้ต้นไม้ สวนสาธารณะ สถานที่แถวนี้เหมาะในการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานที่ไม่ลงลึก

 

แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นความลับ เรื่องที่เป็นทางการ รวมไปถึงเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ ควรจัดหาสถานที่ให้เหมาะสมเป็นส่วนตัว

ปัจจุบันนี้มีหลายบริษัทที่จัดสถานที่ไว้สำหรับให้คำปรึกษาโดยเฉพาะ การจัดห้องเพื่อให้คำปรึกษาควรมีการจัดโต๊ะเก้าอี้ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกน้องรู้สึกว่าเชื่อใจได้ วางเก้าอี้อยู่ในระดับเดียวกัน เก้าอี้มีแบบและขนาดเท่ากัน เพื่อลดความรู้สึกตั้งกาดแบบไม่ไว้วางใจ

 

ตัวอย่าง เก้าอี้แบบมีพนักพิงเตี้ยเหมือนกัน หันไปในทิศทางเดียวกัน กรณีที่มีโต๊ะกลางสามารถนำมาตั้งไว้ตรงกลางระหว่างเก้าอี้ 2 ตัว และหันเก้าอี้ของทั้งสองฝ่ายเอียงหากันเล็กน้อย ไม่เกิน 45 องศา

สีห้องที่ใช้ควรเป็นสีอ่อนๆ สว่างสบายตา ทำให้รู้สึกถึงความผ่อนคลายเบาสบาย สีของห้องมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกในจิตใจ

กรอบรูปควรเป็นรูปดอกไม้ ต้นไม้ ธรรมชาติ แทนการใช้ภาพคนหรือเหตุการณ์ที่สื่อถึงอารมณ์รุนแรง

 

  1. ท่าทางร่างกาย

การขยับร่างกายที่มีความใกล้เคียงกัน ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกจากภายในถึงการเป็นพวกเดียวกัน การทำท่าทางที่คล้ายกันนี้เป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้สังเกตความพร้อมของลูกน้องที่เข้ามารับการปรึกษา ดูที่หัวหน้ายังไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ แต่สังเกตจากท่าทางของลูกน้อง  ทั้งการนั่งการยืนและการเดิน หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นการเลียนแบบก็ได้ การใช้วิธีนี้ต้องผ่านการฝึกฝน ให้เกิดความชำนาญ เพราะไม่เช่นนั้น ความไม่เป็นธรรมชาติที่เกิดจากการขาดการฝึก จะทำให้การเห็นด้วย กลายเป็นจุดสังเกตและทำให้ลูกน้องเกิดความอึดอัดได้

 

  1. ภาษาการพูด

น้ำเสียงมีความสำคัญสำหรับความสัมพันธ์โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทางหู ประกอบด้วย

 

จังหวะในการพูด

บางคนมีจังหวะในการพูดช้า พูดน้ำเสียงนุ่มๆ พูดแบบห้วนๆ พูดเร็ว การใช้จังหวะในการพูดควรเป็นจังหวะที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่ใช่การพูดที่เหมือนกันเลยซะทีเดียว รักษาระดับการพูดในจังหวะที่ช้ากว่าหรือเร็วกว่าผู้ปรึกษานิดหน่อย และรวมถึงการสังเกตอารมณ์ของลูกน้องที่มาปรึกษา ยกตัวอย่างเช่น ลูกน้องเดินเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องที่มีอารมณ์เศร้า ไม่มีแรงบันดาลใจในการทํางาน เนื่องจากเพิ่งเสียเสาหลักของครอบครัวไป จังหวะและอารมณ์ในการพูดของหัวหน้า ควรเป็นจังหวะที่ช้าลง และน้ำเสียงเข้ากับอารมณ์ที่ลูกน้องมีอยู่ในขณะนั้น

 

ภาษาที่ใช้สื่อสาร

ภาษาเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยได้มาก ในการสร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น สำหรับหัวหน้างานที่มีลูกน้องเป็นกลุ่มวัยรุ่น ควรฝึกคำศัพท์ใหม่ๆตามสมัยนิยม เพื่อนำมาใช้สร้างความสัมพันธ์และเชื่อใจ

ส่วนที่ 2 การตระหนักรู้

การสร้างการตระหนักรู้ให้ลูกน้องได้รู้ ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิต รวมถึงพฤติกรรมในที่ทำงานสะท้อนถึงความคิดภายในใจ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าพฤติกรรมนี้ที่เป็นอยู่มาจากความต้องการภายในจิตใจ ที่ให้เขาได้เห็นมุมมองในฐานะไม่ใช่ผู้เล่นแต่เป็นผู้ดูสถานการณ์

หัวหน้าสามารถชวนให้เขามองชีวิตมากขึ้น เพื่อให้เขารู้ตัวมากขึ้น ชวนทบทวนประสบการณ์ภายในให้เขาเห็นตัวเอง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง

โดยฝึกทักษะ 4 ด้านนี้ ได้แก่ ฟัง ถาม ทวน สรุป

1.ทักษะการฟัง

ทักษะการฟังเป็นทักษะชั้นสูง ที่ต้องผ่านการฝึกฝนและทำความเข้าใจเป็นอย่างดี 

ฟังแต่ไม่ได้ยิน =  ฟังแต่ไม่เข้าใจ

ก่อนการเริ่มต้นฟังให้คุณใช้มือสัมผัสที่หัวใจแล้วบอกกับตัวเองว่า

“ฉันจะฟังด้วยจิตใจที่มีเมตตากรุณาด้วยเจตนาที่ดี “

การฟังสำคัญมากสำหรับการสื่อสาร บ่อยครั้งที่การสื่อสารระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องไม่เข้าใจกัน หรือแม้แต่คู่รัก ภรรยาสามี ครูนักเรียน เพื่อนร่วมงาน การรับฟังเป็นการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้ระบายและปลดปล่อยความในใจความรู้สึกนึกคิดออกมา รากของการฟังที่แท้จริงคือ 

“การฟังที่เข้าใจถึงสิ่งที่เขาไม่ได้พูด”

 

การฟังแบ่งเป็น 5 ทักษะดังนี้

1.ฟังด้วยหู

เป็นการฟังเพื่อปฏิบัติต่อเรื่องราวและนำมาร้อยเรียงว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่จะได้ยินจากการฟังด้วยหู เสียงที่ไม่ได้เล่า จากการฟังถ้ามีบางช่วงที่สะดุดไม่ปะติดปะต่อ มีความเป็นไปได้มีช่วงนั้นจะมีเสียงที่ไม่ได้เล่าอยู่ตรงนั้น

1.1 เนื้อหา ได้ยินเรื่องราวที่เกิดขึ้น 

1.2 น้ำเสียง บ่งบอกถึงเหตุการณ์ที่เล่า ตัวอย่างเช่น เสียงสั่นเครือเมื่อรู้สึกโมโห 

  1. ฟังด้วยตา

เป็นการสังเกตระหว่างที่ฟังเรื่องราว ใช้สายตาในการสังเกตเพราะมนุษย์สื่อสารผ่านร่างกายตามศาสตร์ nlp ร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกับจิตใจเพราะฉะนั้น การแสดงออกของร่างกายล้วนมาจากจิตใจ 

2.1 ใบหน้า

สังเกตเมื่อมีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นขณะที่เขาเล่าเรื่อง จะสังเกตเห็นการไหลเวียนของเลือด เช่น รู้สึกกลัวจนหน้าซีด รู้สึกโมโหจนหน้าแดง รู้สึกเหนื่อยมีดวงตาเศร้า

 

2.2 ท่าทาง

สังเกตท่าทางการนั่งการวางตัว การแสดงของจิตใจผ่านร่างกาย เช่น การถอนหายใจห่อไหล่ การแสดงออกทางด้านร่างกายใช้มือตกขาตอนที่เล่าเรื่องที่มีความรู้สึกโกรธ 

3.ฟังด้วยจิต

จดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง ติดต่อกับคนตรงหน้า คิดตามเรื่องที่เขาเล่าและใคร่ควรพิจารณาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เห็นภาพที่เกิดขึ้นในจิตใจ

ขั้นตอนการใช้จิตใจในการคิดตาม ต้องระวังความคิดของตัวเองขอผู้ฟังอาจจะเผลอคิดเรื่องอื่น ที่หลุดประเด็นที่สำคัญไปได้ ถ้าเกิดความคิดขึ้นให้พักความคิดไว้ก่อน

4.ฟังด้วยหัวใจ

การฟังด้วยหัวใจฟังเพื่อเข้าใจถึงความรู้สึกและความต้องการของผู้พูด หรือเรียกว่าเข้าใจหัวอก ตัวอย่างเช่น เข้าใจหัวอกคนเป็นแม่ เข้าใจหัวอกของคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว

ข้อควรระวังในขั้นตอนนี้คือ การเชื่อมโยงเรื่องราวเข้ากับประสบการณ์ของตัวเอง กับความทรงจำที่ตัวเองเคยมีความรู้สึกในแบบเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาความรัก ปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ผู้ฟังต้องรู้ทันและจับตัวเองให้ทัน

 ตัวอย่างเช่น มีเพื่อนที่ยืมเงินเราจำนวนเงิน 5,000 บาทเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าของคนอีกคน ถึงเรื่องการถูกยืมเงิน ทำให้เรื่องราวเพื่อนของตัวเองกลับมาในหัวอีกครั้ง

5.ฟังด้วยสมาธิ

การฟังด้วยสมาธิเป็นการฟังที่แยกเรื่องราวของผู้พูดกับความรู้สึกของเราออกจากกัน ฟังเรื่องราวและความรู้สึกของผู้พูดไว้ข้างๆ แล้วใช้วิธีการมองเข้าไปเป็นผู้ชมเพื่อรวบรวมประเด็น และเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน รวมเป็นภาพใหญ่เหมือนการต่อจิ๊กซอว์ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

การฟังอย่างตั้งใจและใส่ใจทำให้รู้เรื่องราวทำให้รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว “อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของคนที่กำลังพูดอยู่” เบื้องหลังของสิ่งที่เขาพูดคืออะไร

2.การตั้งคำถาม

การสนทนาเมื่อมีผู้ฟังในหลายๆครั้งอาจจะทำให้ผู้พูดพูดแล้วหลุดประเด็นในการสนทนา ยกตัวอย่างเช่น นาย A เล่าเรื่องของตัวเองที่มีคู่กรณีเป็นนาย B แต่พอพูดถึงนายบีเชื่อมโยงไปถึงนาย C และนาย D แล้วหลุดประเด็น

ลองสำรวจดูว่าท่านเคยหรือไม่ที่เป็นคนฟังเรื่องราวเริ่มต้นพูดถึงเรื่องเรื่องหนึ่ง แต่ตอนจบกลายเป็นเรื่องของอีกคนหนึ่งและคนละประเด็นไปด้วย

 

เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามเป็นการกำหนดทิศทาง เพื่อนำประเด็นในการเห็นภาพกว้างและขยายให้ชัดเจนขึ้น เปรียบเสมือนการเดินอยู่ในถ้ำที่เราเดินไปพร้อมๆกัน การนำประเด็นด้วยคำถามเป็นการฉายไฟ เพื่อให้เรามองเห็นทางออกของปัญหา 

ลักษณะของคำถามคนเป็นคำถามแบบปลายเปิด เช่น 

ตอนนี้คุณคิดอะไรอยู่ 

ตอนนี้คุณรู้สึกอะไร 

ตอนนี้คุณคิดอะไรในใจ

เพื่อสะท้อนความคิดที่มีอยู่ภายในใจ ที่เป็นสาเหตุของพฤติกรรม

3.การถามทวน

การพูดทวนในสิ่งที่เขาพูด เป็นประโยคสั้นๆ หลังจากฟังเรื่องราวและจับประเด็นประมาณ 1-2 นาที เพื่อกระตุ้นให้เขาไปต่อ สรุปเฉพาะคำสำคัญและความรู้สึก เพราะบางครั้งผู้พูดจะลืมประเด็นของตัวเอง การทบทวนแบบสั้นๆจึงเป็นการสะท้อนให้เขาได้ยินเสียงของตัวเอง เช่น

อืม…คุณรู้สึกน้อยใจ

อืม…คุณโมโหมาก

ใช่…คุณกำลังโกรธมาก

 

  1. การสรุป

หลังจากที่ผู้ฟังได้สรุปประเด็นตามภาพในหัวแล้ว การสรุปประโยคสั้นๆเป็นช่วงช่วงตลอดการคุยกัน เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นการสรุปเพื่อให้เข้าใจตรงกันระหว่างผู้ฟังและผู้พูด ถึงประเด็นที่คุยกันและผู้ฟังถามกลับผู้พูดว่า “ดิฉันพูดถูกต้องไหมคะ”ถ้าเข้าใจไม่ตรงกันให้ทำความเข้าใจก่อนที่จะไปต่อ แล้วถามอีกครั้งว่า”ดิฉันพูดถูกต้องไหมคะ” เพื่อกำหนดทิศทางในการตั้งคำถามถัดไป

 

ส่วนที่ 3 ทำความเข้าใจ

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการจัดการกับความคิด อารมณ์และพฤติกรรมที่เกิดขึ้น โดยมีขั้นตอนดังนี้

1.เชื่อมโยงเรื่องราวที่เล่ากับปัจจุบัน 

เพื่อให้ลูกน้องรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้นถึงสาเหตุของปัญหา พฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาจากอารมณ์และความคิด หัวหน้าสามารถใช้คำถามเพื่อถามผลลัพธ์ที่เขาต้องการ เช่นถามว่า จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยากให้มันจบอย่างไร คุณต้องการให้ผลมันออกมาเป็นแบบไหน

 

ตัวอย่าง

การมาทำงานสายไม่ได้เกิดจากการเดินทาง หรือบ้านไกล แต่มาจากคำพูดของเพื่อนร่วมงานคนนึงที่ว่า มาเช้าเพื่อเอาหน้าเจ้านาย ถ้ามาเช้าเราต้องมาเจอเพื่อนกลุ่มนี้ ทำให้กลายเป็นคนที่มาทำงานสายเป็นประจำเพราะการให้คุณค่ากับคำพูดของคนอื่น มากกว่าความดีของตัวเอง

 

ตัวอย่าง

ผิดพลาดในการทำงานบ่อย เพราะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับแม่ มีพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่ชอบให้ใครมาสั่งงาน เวลาหัวหน้าสั่งงานไม่ให้ความใส่ใจ ทำให้ไม่กล้าถาม เพราะความเชื่อที่ว่า ถามแปลว่าโง่ ความเชื่อนี้มาจากตอนวัยเด็ก แม่สั่งให้ทำงานแล้วเกิดความผิดพลาด แล้วโดนแม่ด่าว่าโง่  ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่กล้า

 

2.เจาะลึกเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาด้วยการตั้งคำถาม

เช่น

เรื่องของคุณมันเป็นปัญหากับคุณไหม ?

มันเป็นปัญหากับคุณอย่างไร ?

ถ้ามันดำเนินแบบนี้มันจะเป็นปัญหาอย่างไร ?

 

3.ฝึกทักษะกระบวนการเข้าใจภายในตัวเอง

เมื่อรู้ปัญหาที่แท้จริงแล้วหัวหน้าสามารถฝึกให้ลูกน้อง เรียนรู้จากกระบวนการเพื่อให้เข้าใจจิตใจภายใน ด้วยการทำกิจกรรม 

เรื่องเหตุการณ์ที่รู้สึกดี และเหตุการณ์ที่รู้สึกไม่ดี ทั้งสองอย่าง แล้วมองเข้าไปในเหตุการณ์ 

ถามคำถามว่า เห็นอะไรเกิดขึ้น เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร

กระบวนการให้คำปรึกษาที่ได้ผล มาจากการตระหนักรู้ถึงปัญหาของผู้ที่เข้ามาปรึกษา เมื่อเขาตระหนักรู้ถึงปัญหาจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือการตระหนักรู้ปัญหาที่แท้จริง

ลองพิจารณาดูว่าที่ผ่านมาคุณแก้ปัญหาตามขั้นตอนแบบไหนและ จะกลับให้มันดีขึ้นได้อย่างไร

 

Share This